ลำดับขั้นตอนในการจัดงานศพ

0
160

สัจธรรมแห่งชีวิตที่มนุษย์ทุกคน และสัตว์ทุกจำพวกต้องเผชิญ นั่นก็คือ สัจธรรม4 อันได้แก่ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ทุกๆคนล้วนต้องได้เจอ ไม่ว่าจน หรือรวย, ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่ว่าต่ำศักดิ์ หรือสูงศักดิ์, ไม่ช้าก็เร็ว เราทั้งหลายที่เกิดในภพ ในชาตินี้ล้วนหนีความตายไม่พ้น…

เปลวเทียนละลายแท่ง เพื่อเปล่งแสงอันอำไพ…

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์ ท่านระรึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง”
พระอานนท์ตอบ “ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าเจ้าระลึกถึงความตายวันละครั้ง”
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า “อานนท์เอ๋ย ท่านอยู่ในความประมาท เราระลึกถึงความตายทุกลมกายใจเข้าออก”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราไม่ประมาท ให้ระลึกถึงความตายตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไหร่… จากคาถาบท “อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ” ได้กล่าวไว้ว่า

มะระณะธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต ( ญ . อะนะตีตา )
– เรามีความตายเป็นธรรมดา , จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้  
สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว

– เราจะละเว้นเป็นไปต่างๆ , คือว่าเราจะต้องพลัดพราก
จากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง

กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายา โท ( ญ . ทา ) กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ
กัมมะปะฏิสะระ โณ ( ญ . ณา )

– เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน , มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ,
มีกรรมเป็นแดนเกิด , มีกรรมเป็นผู้ติดตาม , มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยัง กัมมัง กะริสสามิ , กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา ,  
ตัสสะ ทายา โท ( ญ . ทา ) ภะวิสสามิ

– เราทำกรรมอันใดไว้ , เป็นบุญหรือบาป , เราจะเป็นทายาท ,
คือว่าเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป

เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง

– เราทั้งหลายควรพิจารณาอย่างนี้ทุกวันๆ เถิด

ขั้นตอนการจัดงานศพ

  1. การแจ้งตาย
    • ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะออกใบรับรองแพทย์ เพื่อเป็นหลักฐานในการไปแจ้งตายที่นายทะเบียนท้องถิ่น หรือที่ว่าการอำเภอ.
    • ถึงแก่กรรมที่บ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น (แพทย์ประจำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนัน) เพื่อขอใบรับรองการตาย เพื่อแจ้งตายที่ว่าการอำเภอ.
  2. การนำศพไปวัด
    • แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเพื่อหารถจัดส่งศพ หรือติดต่อวัด หรือมูลนิธิเพื่อจัดส่งศพ โดยปรกติทางมูลนิธิจะจัดส่งศพให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  3. การอาบน้ำศพ การรดน้ำศพ.
    • การรดน้ำศพโดยทั่วไปคือเวลา ๑๕.๐๐ -๑๗.๐๐ น.
    • ให้ลูกหลานคนใกล้ชิดทำการรถน้ำศพก่อน เพื่อมิให้แขกที่มาไม่ต้องเสียเวลารอนาน
    • เมื่อแขกรถน้ำศพแล้วจะเชิญท่านผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในที่นั้นรดน้ำศพเป็นคนสุดท้าย และไม่นิยมให้ใครมารถน้ำต่อจากนั้นอีก
  4. การบรรจุเก็บศพ
    • เมื่อรถน้ำศพเสร็จแล้ว สัปเหรอ จะทำการมัดตราสังข์ และทำการบรรจุศพ และโลงเย็น.
  5. การจัดงานบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรม
    • นิยมสวด ๑ คืน , ๓ คืน , ๕ คืน , ๗ คืน พระสวดอภิธรรม ๔ รูป และสวด ๒ จบ /๔ จบ ลงสวดเวลาประมาณ ๑๙ .๐๐ (หรือตามเวลาแต่ละท้องถิ่น)
    • แต่ละคืนจะมีเจ้าภาพ ญาติสนิท มิตรสหาย ร่วมเป็นเจ้าภาพสวด โดยจะจัดหาปัจจัยถวายพระ 4 รูปแล้วแต่ศรัทธา
  6. การฌาปนกิจศพ (การปลงศพ, เผาศพ)
    • โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ห้ามเผาผีในวันพระและวันศุกร์ เพราะถือว่าสองวันนี้เป็นวันดี
    • ในวันฌาปนกิจศพ เจ้าภาพจะทำการเตรียม กำหนดการและแจ้งให้แขก ได้รับทราบ โดยปรกติจะให้มัฆทายกประกาศในระหว่างวันสวดบำเพ็ญกุศล หรือเขียนกำหนดการไว้ที่ศาลาสวดศพ.
  7. การเก็บอัฐิ
    • การเก็บอัฐิ เมื่อการฌาปนกิจเสร็จแล้ว การเก็บอัฐิ บางรายเก็บในตอนเย็นของวันเผาเลย ทั้งนี้ เพื่อ จะทำบุญอัฐิให้เสร็จในคราวเดียวกัน โดยเก็บอัฐิในเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. แล้วนำไปตั้งบำเพ็ญกุศล เช่นเดียวกับพิธีก่อนเผาในคืนวันนั้น เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารเช้า  แล้วนำอัฐิไปบรรจุหรือนำกลับไปไว้ที่บ้าน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีฯ
  8. การลอยอังคาร
    • เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้ว  อัฐิที่เหลือ รวมทั้งเถ้าถ่านให้รวบรวมไปบรรจุ  ลอยแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป

ทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์)
เมื่อเก็บอัฐิตอนเช้าและนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว  จะทำบุญในวันนั้นทีเดียว  หรือจะพัก ๓ วัน หรือ ๗ วัน จึงทำบุญอัฐิได้  รายการในพิธีฯ ก็มีสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ บังสุกุล เทศน์ มีตั้งบาตรน้ำมนต์ เดินสายสิญจน์  เพราะเป็นการทำบุญเรือนให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่ข้างหลัง  ในการทำบุญอัฐิ(ออกทุกข์)